บทสรุปผู้บริหาร

การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการได้กลายมาเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างรายได้และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาตั้งแต่แรกเริ่มเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1990 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นการท่องเที่ยวยังมีความสำคัญในแง่ของการจ้างงาน ภายใต้ภาวะที่จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าในด้านหนึ่งจะส่งผลในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน แต่อีกด้านหนึ่งการขยายตัวของการท่องเที่ยวดังกล่าวโดยปราศจากการบริหารจัดการที่เหมาะสม เป็นแรงกดดันต่อการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติและส่งผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยของเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโครงการนี้จะเป็นการวิจัยแบบบูรณาการโดยผนึกศาสตร์ ความรู้และความเชี่ยวชาญต่างๆ เข้าด้วยกัน การออกแบบโครงการวิจัยยังคำนึงถึงห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งยังมีการวิเคราะห์แยกแยะกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนยังเน้นการสร้างคนและสร้างความยั่งยืน นอกจากนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับชุมชนในประเทศ ตลอดจนมีความรู้แบบสหวิทยาการเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาค รวมทั้งมีเครือข่ายที่แน่นแฟ้นกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ดังนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีศักยภาพที่จะสามารถเชื่อมแผนการท่องเที่ยวของไทยในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และ ระดับภูมิภาคได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประชาคมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับศตวรรษที่ 21 โดย

1.1 ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น กระตุ้นการเสพวัฒนธรรมท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์

1.2 เน้นใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่จับต้องไม่ได้เพื่อนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ตรงของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งผลิตสินค้าเชิงวัฒนธรรม ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์และบรรยากาศของแหล่งท่องเที่ยว

1.3 สร้างความรู้และความประทับใจผ่าน “เรื่องราวและเรื่องเล่า” ของผู้คนและท้องถิ่น

1.4 พัฒนาเครือข่ายและออกแบบการท่องเที่ยวที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

1.5 เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในกระบวนการผลิต

ในโครงการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้แก่ผู้เชี่ยวชาญจากคณะและสถาบันต่างๆในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11 คณะและสถาบัน นิสิตปริญญาโทและปริญญาเอก ตลอดจนนักวิจัยสมทบจากต่างประเทศ รวมทั้งหมด 69 คน นอกจากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังจะมีความร่วมมือกับนักวิจัยในท้องถิ่นและในต่างประเทศทั้งในรูปแบบของการดำเนินการวิจัยร่วมกันและการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นในการประชุมระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ

คณะผู้วิจัยจะเน้นการวิจัยที่มีส่วนร่วม (Participatory Research) และเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยจะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว หน่วยราชการในจังหวัด องค์การปกครองท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ตลอดจนประชาชนที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เป็นต้น

ในการวิจัยจะมีการศึกษาทั้งด้านอุปสงค์ เช่นการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญซึ่งได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจะเน้นที่กลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ โดยการวิจัยเชิงสำรวจและการสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง (Focus Group Discussions) เป็นต้น และด้านอุปทาน เช่นการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ และ การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งยังจะนำผลการวิจัยมาใช้ในการสร้าง Smartphone Application, แผนที่, Policy Briefs และ Web-based Infographics เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นยังจะมีการศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมและโครงการนำร่องต่างๆในโครงการย่อยที่มีต่อชุมชนเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยการเปรียบเทียบข้อมูลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในช่วงเริ่มโครงการและก่อนโครงการสิ้นสุด

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยได้แก่

  1. ใช้ทุนวัฒนธรรมและนวัตกรรมเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย
  2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรมและสร้างความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน
  3. พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

      โครงการวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 ชุดโครงการ ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์พื้นที่จังหวัดน่านและ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม

     ในส่วนของชุดโครงการแรก “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์พื้นที่จังหวัดน่าน” ซึ่งประกอบด้วย 8 โครงการย่อย คณะผู้วิจัยจะทำการศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านในบริบทเชิงธรรมชาติ สุขภาพและวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว การผลิตสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ โดยใช้ภูมิปัญญาและต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ทั้งจะทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการจัดการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดน่าน รวมถึงการจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอิสระชาวจีนที่จะมาท่องเที่ยวในจังหวัดน่านเพิ่มขึ้นเมื่อการเดินทางระหว่างน่านและหลวงพระบางสะดวกขึ้นในอนาคตอันใกล้

    ชุดโครงการที่ 2  “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม” ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการย่อย จะทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเบื้องต้นเกี่ยวกับชาวเล คนไทยพลัดถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ในมะริด เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากข้อมูลที่รวบรวมขึ้น โดยการจัดทำเอกสารสื่อความหมายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของศูนย์วัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์ ภายใต้กรอบแนวคิดการมีส่วนร่วมในชุมชนและการมีปฎิสัมพันธ์กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง คณะผู้วิจัยจะทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยการจัดการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างอันดามันและเมียนมา ยิ่งกว่านั้น ยังเน้นการสร้างทัศนคติ ความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน และสร้างพื้นที่สื่อสารระหว่างชุมชน นักท่องเที่ยวและพื้นที่สาธารณะ

 โครงการ การถอดบทเรียนและการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน จะเป็นโครงการที่ประสาน 2 ชุดโครงการและเน้นที่การถอดบทเรียนและการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใน 2 พื้นที่ และขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศ

ที่มา: สถาบันเอเชียศึกษา (2562)

    

ผลลัพธ์ (Outcomes) ของโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่

1. ชุมชนที่ร่วมโครงการมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่สูงขึ้น

2. ชุมชนสามารถดูแลมรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติของตนเองและสามารถใช้ทรัพยากรเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยมิติการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

3. ชุมชนมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันเพื่อความภูมิใจทางวัฒนธรรม มีการกระจายรายได้ และ เสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามแดน/ข้ามวัฒนธรรม

4. มีนโยบายการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและความคิดของชุมชนพื้นเมืองในการพัฒนาที่นอกเหนือมิติด้านเศรษฐกิจ

ในด้านการพัฒนาวิชาการโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุดวิชาที่เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับนิสิตและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้แก่สาธารณชนและหน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้นจะมีการจัดตั้ง Creative Tourism Research Center และ Creative Tourism Training Center ขึ้นภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดตั้งศูนย์อ้างอิงและวิจัยฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมสำหรับจังหวัดน่าน มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่จะเป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนาแบบสร้างสรรค์ จุดจัดจำหน่าย และพื้นที่สัมมนาเชิงปฏิบัติการของผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์จากทุนวัฒนธรรมขึ้นในจังหวัดน่าน เพื่อการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่เป็นการผนึกกำลังของนักวิจัยจากสหสาขาวิชาและเป็นโครงการวิจัยแบบบูรณาการ ซึ่งจะสามารถนำผลงานวิจัยมาแก้ปัญหาของประเทศและเป็นต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้แก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้          

Leave a comment