ความหมาย และกรณีศึกษาของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

นิยาม

เกิดจากหลักการที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่จุดหมาย ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวได้ทำความเข้าใจผ่านประสบการณ์ของตัวเอง เกิดปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าบ้าน และผู้มาเยือน และยังเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม  นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้ใหม่ มาประยุกต์กับชีวิตการงานของตนหลังจากการท่องเที่ยว (สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และคณะ, 2556)

เป็นการท่องเที่ยวที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชนและเอกลักษณ์สถานที่โดยนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรง ร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรม และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชนและเอกลักษณ์ของสถานที่ ที่ไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นรายได้ของชุมชน แต่เป็นกิจกรรมที่เน้นคุณค่าของชุมชนเป็นสำคัญ
(องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน,2561

พัฒนาการ

รูปแบบพัฒนาการของการท่องเที่ยวของชาวตะวันตก มายังจุดหมายปลายทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจแบ่งเป็นกระแสหลักได้ 3 กระแส โดยเริ่มจากยุคแรก เป็นยุคที่ให้ความสนใจกับการพักผ่อนหย่อนใจหรือนันทนาการ เน้นความบันเทิงเป็นหลัก (Recreation) ก่อนที่จะหันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น จนเกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ตามมาด้วยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (Eco Tourism) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) และยังมีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ในปัจจุบันที่เรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)  ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังพูดถึงมากในปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน      

คำว่า creative tourism นั้นสร้างขึ้นโดยนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ที่ชื่อ คริสปิน เรย์มอนด์ (Crispin Raymond)  และ เกร็ก ริชาร์ดส์ (Greg Richards) ที่กล่าวว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี 2542-2543 ซึ่งมีจุดหมายปลายทางคือประเทศไทยรวมอยู่ด้วย  โดย creative tourism นั้น เกิดจากหลักการที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่จุดหมาย ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวได้ทำความเข้าใจผ่านประสบการณ์ของตัวเอง เกิดปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าบ้าน และผู้มาเยือน และยังเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้ใหม่ มาประยุกต์กับชีวิตการงานของตนหลังจากการท่องเที่ยว (สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และคณะ, 2556)  ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งกำเนิดขึ้นก่อนนั้น องค์กรด้านการท่องเที่ยวในประเทศเปรูที่เรียกว่า PromPeru ได้อธิบายว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความปรารถนาที่จะรู้จักประวัติศาสตร์ของที่ตั้ง (จุดหมายปลายทาง) และเกิดความเคารพในวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยว แหล่งโบราณคดี อนุสรณ์สถาน สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนพิพิธภัณฑ์

นิยามของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากมุมมองของแต่ละหน่วยงาน แม้จะมีรายละเอียดเชิงลึกที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่คล้ายกัน กล่าวคือ มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแขก (guest) และเจ้าบ้าน (host) โดยทาง พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท อดีตผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท. ได้กำหนดนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไว้ว่า เป็นการท่องเที่ยวที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชนและเอกลักษณ์สถานที่โดยนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรง ร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรม และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชนและเอกลักษณ์ของสถานที่ ที่ไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นรายได้ของชุมชน แต่เป็นกิจกรรมที่เน้นคุณค่าของชุมชนเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันองค์กรด้านการท่องเที่ยวในประเทศเปรูที่เรียกว่า PromPeru ได้อธิบายว่า ขณะที่นิยามที่เกร็ก ริชาร์ดส (Greg Richards) ได้ประมวลไว้ในปี 2553 มาเป็นแนวทางในการพัฒนา (อพท., 2561) ดังนี้

          1. นักท่องเที่ยวและเจ้าของบ้านมีความผูกพันระหว่างกัน 2. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒธรรมระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าของบ้าน 3. นักท่องเที่ยวและเจ้าของบ้านมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งทางวัฒนธรรมของพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว 4. นักท่องเที่ยวและเจ้าของบ้านมีประสบการณ์จากการมีส่วนร่วม 5. นักท่องเที่ยวและเจ้าของบ้านมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน / ส่งต่อ ส่งผ่านประสบการณ์ 6. นักท่องเที่ยวเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่าเป็นแค่ผู้ชม 7. นักท่องเที่ยวมีโอกาสพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ของตนเองและ มีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์กับเจ้าของบ้าน 8. มีความเป็นของแท้ เป็นของจริงแท้ทั้งในกระบวนการการผลิตและผลิตภัณฑ์ / ประสบการณ์จริง 9. เป็นกิจกรรมที่น่าจดจำ มีความประทับใจและเข้าใจ 10. เป็นการท่องเที่ยวแบบจำเพาะเจาะจงของนักท่องเที่ยว (อพท., 2561) ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้นพัฒนามาจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นฐานราก แต่จะมีจุดแตกต่างที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนั้น นักท่องเที่ยวมีบทบาทเป็นเพียงผู้ชม ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชุมชนได้ และชุมชนเองก็สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น (อพท., 2558) การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จึงเปรียบเสมือนวิวัฒนาการอีกระดับของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพด้านล่าง แสดงถึงความแตกต่างระหว่างการท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเภท

ที่มา: อพท. (2558)

กรณีศึกษา

ในบางครั้ง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจัดอยู่ในองค์ประกอบของการท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ เช่น งานศึกษาของ Ellis, Park, Kim, and Yeoman (2018) ที่ศึกษาบริบทของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (food tourism) ด้วยวิธีการทบทวนวรรณกรรม และสร้างกรอบแนวคิด ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า วัฒนธรรมคือแนวคิดศูนย์กลาง (central concept) ของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และได้สรุปไว้ว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารเปรียบเสมือการศึกษามานุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรม โดยอาศัยความเข้าใจในปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยว และสถานที่ผ่านบริบทของอาหารซึ่งเป็นสื่อกลาง ขณะเดียวกัน งานศึกษาบางชิ้นยังให้ข้อสังเกตว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงสร้างสรรค์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น งานของ Canavan (2016) ที่ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าบ้าน (host) และแขก (guest) ที่เป็นนักท่องเที่ยว ในหมู่เกาะ 3 แห่ง บริเวณประเทศอังกฤษ-ฝรั่งเศส ผ่านการสัมภาษณ์ พบว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าบ้านและแขกจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการท่องเที่ยว (tourism culture) ที่มีรูปแบบเฉพาะ ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่ตรงกลางระหว่างวัฒนธรรมของเจ้าบ้าน และของนักท่องเที่ยว เช่น ดนตรี และการเต้นรำ ตลอดจนก่อให้เกิดการสร้างสรรค์เชิงโฆษณา เช่น เทศกาลรูปแบบใหม่ที่ก่อตัวจากวัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งยึดโยงกับภูมิประเทศนั้นๆ หรืองานฝีมือ และขนมดั้งเดิมต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าบ้าน และแขก แต่อาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน กล่าวคือ บางเกาะมีระยะทางห่างไกล หรือไม่เปิดรับมุมมองจากนักท่องเที่ยว เป็นต้น

           งานศึกษาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทั้งในไทย และต่างประเทศ มักจะมีบริบทของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้น ใช้วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชุมชนเล่าเรื่องให้กับนักท่องเที่ยว ในงานศึกษาของ Sofield, Guia, and Specht (2017) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบเชิงพื้นที่ (place-making) ในชุมชน 5 แห่งของเกาะแทสเมเนีย (Tasmania) พบว่า แม้ชุมชนส่วนใหญ่จะไม่ได้ริเริ่มทำการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลัก แต่การออกแบบเชิงพื้นที่ที่นำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่น และให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม เช่น จิตรกรรมฝาผนังผ่านบทกวีของชุมชน Sheffield ซึ่งจะมีการนำผลงานของนักท่องเที่ยวรวบรวมไว้ใน Murals Park สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ และกลายเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในที่สุด

           ขณะเดียวกัน ความเชื่อทางศาสนาก็ส่งผลต่อการท่องเที่ยวได้ ในบางประเทศที่วัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับศาสนานั้นมีผลต่อการกำหนดภาพลักษณ์ของจุดหมายปลายทางสูง ดังงานศึกษาของ Farahani, and Musa (2012) ที่ศึกษาผลกระทบของความเชื่อ วัตรปฏิบัติ และความศรัทธาในศาสนาอิสลาม ที่มีต่อการรับรู้ทางการท่องเที่ยว โดยมีพื้นที่ศึกษาในชุมชน 2 แห่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในประเทศอิหร่าน หลังจากให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้นตอบแบบสอบถาม ผลที่ได้บ่งชี้ว่า ผู้อยู่อาศัยที่มีความเชื่อ วัตรปฏิบัติ และศรัทธาต่อศาสนาในระดับสูงมาก จะมีการรับรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมทางการท่องเที่ยวที่สูงด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ผู้ที่เชื่อมั่นในหลักการของศาสนามาก จะมีทัศนคติเชิงบวกต่อปัญหาสังคม รวมทั้งการท่องเที่ยวว่าสามารถพัฒนาภาพลักษณ์ โครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมทางวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตได้

           ในประเทศไทยเองก็มีการศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น งานศึกษาของสาธิญา รุ่งพิพัฒนพงศ์ (2557) ที่ศึกษาองค์ประกอบของความยั่งยืนสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในบริเวณชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านการสัมภาษณ์ตัวแทนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และสมาชิกของชุมชน พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับองค์ประกอบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ UNWTO และ UNEP ผลการศึกษาพบว่า องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนประกอบด้วย 5 ประเภท ซึ่งสรุปได้ว่า 1. นักท่องเที่ยวหัวใจสร้างสรรค์ เช่น มีความสนใจในกิจกรรม มีจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ส่งผลต่อชุมชน 2. เจ้าบ้านเข้มแข็งและสร้างสรรค์ คือต้องมีความรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการท่องเที่ยว มีความภาคภูมิใจ หรือมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย 3. กิจกรรมและปฏิสัมพันธ์แท้จริง ไม่จัดสร้าง กล่าวคือ ต้องเป็นกิจกรรมดั้งเดิมของวิถีชีวิตในชุมชน ไม่ใช่การจัดฉาก หรือหวังผลเชิงพาณิชย์ 4. กระบวนการควบคุมภายในที่เข้มแข็งและครอบคลุม[1] อันเกิดจากการตกลงร่วมกันในชุมชน มีบทลงโทษสำหรับนักท่องเที่ยว สมาชิก ผู้ประกอบการ และนักลงทุนภายนอก รวมถึงมีการจัดการทรัพยากรของชุมชนอย่างเท่าเทียม 5. ประโยชน์เข้าถึงอย่างเท่าเทียม คือต้องก่อให้เกิดผลได้กับสมาชิกที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน และต้องไม่ทำให้เกิดผู้ที่รู้สึกเสียประโยชน์

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (community based tourism)

           รูปแบบการท่องเที่ยวอีกประเภทที่จะต้องกล่าวถึงเช่นกัน คือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ขณะนี้เป็นนโยบายสำคัญของหน่วยงานท่องเที่ยวในไทย และหน่วยงานอื่นที่จัดทำแผนการท่องเที่ยวร่วมกัน   ความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ การท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มเล็กที่มีการจัดการท่องเที่ยวดีเยี่ยม เพราะสามารถดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรท่องเที่ยวให้มีความดึงดูดใจอย่างไม่เสื่อมคลาย และธุรกิจท่องเที่ยวมีการปรับปรุงคุณภาพให้ได้ผลกำไรอย่างเป็นธรรม มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนสม่ำเสมอในจำนวนที่เพียงพอ และต้องส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดในระยะยาว (ตฤตณัย นพคุณ, 2558)  หลักการเบื้องต้นของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้น ให้ความสำคัญกับคุณค่าและอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว  สร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวรับผิดชอบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม  และสิ่งสำคัญอีกประการ ก็คือ ผลประกอบการจากการท่องเที่ยวต้องตกถึงมือคนในชุมชนหรือท้องถิ่น  โดยหลักการอย่างหลังนี้ เกิดการพัฒนาต่อยอด กลายเป็น การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism)  ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ทั้งยังต้องกำหนดทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชนที่เป็นเจ้าของ มีสิทธิในการดูแล เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, 2559) 

           ทั้งนี้ การท่องเที่ยวโดยชุมชนอาจแบ่งย่อยได้อีก เป็น 3 ประเภทหลักตามวารสารของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แก่ 1) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco Tourism) ซึ่งมีรูปแบบท่องเที่ยวในระบบนิเวศธรรมชาติเท่านั้น และเน้นการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ   2) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางการเกษตรเป็นทรัพยากรหลัก มีกลไกกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านอาชีพเกษตรกรรมได้ ซึ่งเกษตรกรรมนี้รวมถึงการประมง และปศุสัตว์ด้วย  และ 3) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) หมายถึงการท่องเที่ยวเพื่อบำบัดโรคหรือบำรุงสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิตของนักท่องเที่ยว ในความเป็นจริงแล้ว การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจถือว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, 2556)           กรณีศึกษาที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า การท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยชุมชนก่อให้เกิดผลประโยชน์ในหลายด้าน เช่น งานศึกษาของ Lee and Jan (2019) ที่ศึกษาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากชุมชน 6 แห่งในประเทศไต้หวัน ผ่านการตอบแบบสอบถามของผู้พักอาศัยจำนวน 849 คน โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบก่อน-หลัง ของกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การรวมกลุ่ม (consolidation) การพัฒนา (development) และการเชื่อมโยง (involvement) ผ่านการพิจารณาบริบทความยั่งยืนทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้พักอาศัยในชุมชนส่วนใหญ่มีความรับรู้ว่าความยั่งยืนในทั้ง 4 มิติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในระยะพัฒนา

ที่มา: สถาบันเอเชียศึกษา (2562)

[1] บทบาทของชุมชนในด้านนี้ มีลักษณะที่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนของ Elinor Ostrom นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2009

รายการอ้างอิง

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และคณะ. (2556). การท่องเที่ยว (Tourism) และนักท่องเที่ยว (Tourist): ความหมายและความสำคัญ. ใน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (หน้า 7-14). กรุงเทพมหานคร: องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2561). คู่มือกระบวนการพัฒนาและยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: บริษัท บุ๊คพลัส พับลิชชิ่ง จำกัด.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2558). ใส่ใจไปเที่ยวกับอพท. CREATIVE TOURISM. สืบค้นจาก http://www.dasta.or.th/th/component/k2/item/2809-ใส่ใจไปเที่ยว-กับ-อพท-creative-tourism

Ellis, A., Park, E., Kim, S., and Yeoman, I. (2018). What is food tourism? Tourism Management, 68, 250-263.

Canavan, B. (2016). Tourism culture: Nexus, characteristics, context and sustainability. Tourism Management, 53, 229-243.

Sofield, T., Guia, J., and Specht, J. (2017). Organic “folkloric” community driven place-marketing and tourism. Tourism Management, 61, 1-22.

Farahani, H. Z., and Musa, G. (2012). The relationship between Islamic religiosity and residents’ perceptions of socio-cultural impacts of tourism in Iran: Case studies of Sare’in and Masooleh. Tourism Management, 33, 802-814.

สาธิญา รุ่งพิพัฒนพงศ์. (2557). องค์ประกอบของความยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาชุมชนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม.

ตฤตณัย นพคุณ. (2558). ถอดรหัสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. วารสารเศรษฐกิจและสังคม, 52(1), 44-46.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2559). การท่องเที่ยวโดยชุมชน. สืบค้นจาก http://www.dasta.or.th/dastaarea6/th/515/การท่องเที่ยวโดยชุมชน

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2556). การท่องเที่ยวสร้างสรรค์. สืบค้นจาก http://www.dasta.or.th/creativetourism/th/article/155-notice3.html

Lee, T. H., and Jan, F. H. (2019). Can community-based tourism contribute to sustainable development? Evidence from residents’ perceptions of the sustainability. Tourism Management, 70, 368-380.