เตาเผาบ่อสวกโบราณ บ้านจ่ามนัส

แหล่งเครื่องปั้นดินเผา ในจ.น่าน 

ที่บ้านบ่อสวก มีบ้านของจ่ามนัส (จ่าสิบตรีมนัส ติคำ) ที่บังเอิญไปขุดเจอบางส่วนของเตาเผาครั้งแรกในปี 2520 และด้วยความโชคดีที่จ่ามนัสปลูกไม้ยืนต้น ทำให้โบราณวัตถุที่ถูกทับถมอยู่ในดินเหล่านี้ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก
ตลอดระยะเวลา 20 ปี จ่ามนัสดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และเตาเผาโบราณด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวมาตลอด โดยไม่ได้พึ่งงบประมาณจากภาครัฐ และมีจุดประสงค์ที่สำคัญ คือ การเปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แทนที่จะเก็บค่าเข้าชม หรือทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ 

เดิมทีนั้นจ่ามนัสและภรรยา ได้ขุดพบชิ้นส่วนของเตาเผาตามต้นไม้ในปี 2520 โดยบังเอิญ และไม่ได้ทำการขุดเพิ่มเติม 
ก่อนหน้านั้น ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี ได้ทำการสำรวจแหล่งเครื่องปั้นดินเผาในภาคเหนือ จนได้ไปพบเศษเครื่องปั้นดินเผาที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ระหว่างปี 2517-2518 และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นของเมียนมา 
หลังจากนั้นในปี 2527 ศ.สายันต์ ได้เดินทางมายังจังหวัดน่าน และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน โดยเทียบเคียงเศษเครื่องปั้นดินเผาที่ค้นพบกับตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ จึงพบว่าแท้จริงแล้วเครื่องปั้นดินเผาที่ค้นพบที่อ.อมก๋อยอยู่ในจังหวัดน่านนี่เอง ไม่ใช่เมียนมาตามที่เข้าใจ 
ศ.สายันต์ได้ตามหาแหล่งที่มาของเครื่องปั้นดินเผา จนไปเจอบริเวณที่เรียกว่าดอยเฟื้องหม้อ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเศษหม้อและไหอยู่มาก ในเขตต.บ่อสวก แต่เจ้าของที่ดินไม่อนุญาตให้ทำการขุด ศ.สายันต์จึงพักการค้นหาไประยะหนึ่ง

ต่อมาในปี 2542 ศ.สายันต์ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาพบจ่ามนัส ผ่านการชักชวนของคุณหมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตรซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ก่อนจะเดินทางมาที่บ้านในต.บ่อสวก ตามคำบอกเล่าของจ่ามนัสที่กล่าวว่าเจออิฐแข็ง 2 ก้อน 

ศ.สายันต์จึงขุดไปจนพบปล่องเตา ก่อนจะขุดลึกลงจนถึงตัวเตาเผา และเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จ่ามนัสเก็บสะสมเครื่องปั้นดินเผา และใช้บริเวณตัวเรือนหลังเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุที่ยังอยู่ในสภาพดี ซึ่งอายุของเตาเผา และเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดได้นั้นมีอายุราว 750 ปี จากการคำนวณค่า C-14 โดยศ.สายันต์

หลังจากที่จ่ามนัสตัดสินใจเปิดเรือนหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปี 2544 ก็ได้นำเศษเครื่องปั้นดินเผาโบราณ และข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อนขึ้นมาเก็บรักษาไว้ โดยเรือนหลังนี้ ไม่มีผู้อยู่อาศัย

ขอขอบคุณจ่าสิบตรีมนัส ติคำ และคุณสุนัน ติคำ สำหรับข้อมูลจากการสัมภาษณ์

Leave a comment